อิตาเลียนไทยสร้างอาคารใหม่สนามบินกัลกัตตา

อิตาเลียนไทยสร้างอาคารใหม่สนามบินกัลกัตตา

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 ก.พ. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 7,838 view

 

“ปักธงไทยในเมืองกัลกัตตา”                    

“A Landmark Project of Thai Construction Company in Kolkata”

เมืองกัลกัตตาเป็นเมืองหลวงเก่าของอินเดียและปัจจุบันเป็นเมืองหลวงของรัฐเบงกอลตะวันตก มีนามเรียกขานอีกชื่อหนึ่งว่า “The City of Joy” หรือ นครแห่งความบันเทิง มีประชากรกว่า 15 ล้านคน นับเป็นเมืองที่มีคนอยู่มากเป็นลำดับที่ 2 ในอินเดีย ในขณะที่รัฐเบงกอลตะวันตกมีประชากรรวมกันประมาณ 95 ล้านคน เป็นรัฐที่มีประวัติการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดียมาช้านาน เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของนายประนาบ มุขเคอร์จี (Pranab Mukherjee) ประธานาธิบดีอินเดียคนปัจจุบัน เป็นถิ่นกำเนิดของนักปราชญ์รางวัลโนเบล รพินทรนาถ ฐากูร (Rabindranath Tagore)  และนายเนตาจี สุพัส จันทรา โบส (Netaji Subhash Chandra Bose) นักต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดียเมื่อ 70 ปีก่อน และท่าอากาศยานนานาชาติเมืองกัลกัตตายังใช้ชื่อของท่านเป็นชื่อท่าอากาศยานอีกด้วย

รัฐเบงกอลตะวันตก ในระยะยาวนานกว่า 30 ปี อยู่ภายใต้การบริหารพรรคคอมมิวนิตส์อินเดีย แต่ได้เปลี่ยนมาสู่การบริหารของพรรคตริณมูลคองเกรส เมื่อกลางปี พ.ศ. 2554 ซึ่งในตอนนั้น พรรคตริณมูลฯ เป็นพรรคร่วมรัฐบาลกลางอินเดียกับพรรคคองเกรสด้วย แต่ต่อมาได้ถอนตัวออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อกลางเดือนตุลาคม 2555 กลายมาเป็นพรรคฝ่ายค้านอย่างเต็มตัวเนื่องจากความขัดแย้งเกี่ยวกับการปรับขึ้นราคาน้ำมัน  ค่าโดยสารรถไฟและนโยบายของรัฐบาลกลางที่จะให้ต่างชาติเข้ามาค้าปลีกได้ในอินเดีย

ในปลายสมัยการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ รัฐเบงกอลตะวันตกได้เร่งการพัฒนารัฐโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมขนส่ง เพื่อปรับปรุงการเกษตรและอุตสาหกรรมของรัฐให้ก้าวหน้า นอกจากนี้ การท่องเที่ยวยังเป็นเป้าหมายที่สำคัญอีกด้านหนึ่งของเบงกอลตะวันตก โดยที่เมืองกัลกัตตาเป็นเมืองหลวงเก่าของอินเดีย มีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจตั้งแต่สมัยอังกฤษเข้ามายึดครองอินเดียเมื่อ ประมาณ 200 ปี มาแล้ว จึงมีอนุสรณ์สถานและสถานที่ท่องเที่ยว อาทิเช่น พิพิธภัณฑ์อินเดีย ซึ่งกล่าวกันว่าเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของอินเดีย หอสมุดแห่งชาติที่ใหญ่โตมโหฬาร อนุสรณ์สถานพระนางเจ้าวิคตอเรีย (ทำจากหินอ่อนทั้งหลัง) เพื่อเป็นเกียรติแก่พระราชินีอังกฤษตั้งแต่สมัยบริษัทอีสต์อินเดียของอังกฤษเข้ายึดครองเบงกอลได้ในปี ค.ศ. 1757 และในที่สุดก็สามารถจัดตั้งจักรวรรดิของอังกฤษในอินเดียขึ้นในปี ค.ศ. 1857

หากท่านเดินทางไปยังเมืองกัลกัตตาเพื่อการท่องเที่ยวหรือจะเดินทางต่อไปยังเมืองดาร์จีลิ่งเพื่อชมไร่ชาและพักผ่อนบนทิวเขาอันเขียวขจีมีอากาศเย็นสบายหรือแม้แต่จะแวะพักเพื่อเดินทางไปแสวงบุญยังพุทธคยาในรัฐพิหาร และพาราณสี กุสินารา ในรัฐอุตตรประเทศ ท่านจะพบว่าเมืองกัลกัตตาเต็มไปด้วยการก่อสร้าง มีอุปกรณ์ก่อสร้างวางเรียงรายระเกะระกะ มีฝุ่นควันปกคลุมกระจายเกือบทั่วทั้งเมืองตั้งแต่สนามบิน สถานีรถไฟ ไปจนกระทั่งถึงใจกลางเมือง สิ่งก่อสร้างและมลภาวะเหล่านี้ปรากฏมาช้านานนับสิบปี และยังจะคงอยู่ต่อไปอีกนับสิบปีเช่นกัน เป็นผลมาจากการพัฒนาก่อสร้างสิ่งต่างๆ ทั้ง ถนน สะพาน รถไฟใต้ดิน อาคารร้านค้า ศูนย์การค้า โรงแรม ภัตตาคาร ที่พักอาศัย เพื่อให้เพียงพอกับชาวเมืองกัลกัตตาที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งนักธุรกิจ นักท่องเที่ยว นักเรียน นักศึกษาท้องถิ่นและต่างประเทศที่หลั่งไหลเข้ามาพักอาศัยเป็นการถาวรหรือชั่วคราวในเมืองกัลกัตตาดินแดนที่มีมนต์ขลังแห่งนี้

บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด                   

บริษัท อิตาเลียนไทยฯ เป็น บริษัทก่อสร้างใหญ่ของไทยที่มองการณ์ไกลเห็นถึงความเจริญก้าวหน้าของอินเดียและเมืองกัลกัตตา ได้เข้ามาประมูลและได้งานก่อสร้างสำคัญๆ ในอินเดียกว่า 10 โครงการ เป็นวงเงินหลายหมื่นล้านบาท โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศและอาคารผู้โดยสารภายในท่าอากาศยานเมืองกัลกัตตาเป็นโครงการวงเงินระดับหมื่นล้านโครงการหนึ่งของบริษัท    อิตาเลียนไทย ซึ่งเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลธุรกิจของสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา ขอเล่าถึงภูมิหลังการดำเนินโครงการสนามบินเมืองกัลกัตตา เพื่อบันทึกไว้ให้เป็นประโยชน์แก่นักลงทุนไทยรุ่นต่อๆไป และรวมทั้งสาธารณชนไทยได้รับทราบถึงประสบการณ์ ปัญหาอุปสรรคและผลประโยชน์ที่ได้รับจากการลงทุนในโครงการนี้

เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2550 บริษัทอิตาเลียนไทยฯ บริษัทของคนไทย ได้เข้ามาประมูลโครงการก่อสร้างสนามบินเมืองกัลกัตตาจากรัฐบาลเบงกอลตะวันตก ซึ่งในสมัยนั้นเป็นรัฐบาลคอมมิวนิสต์ เหตุผลที่ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ มาลงทุนในต่างประเทศเป็นเพราะต้องการแสวงหาความท้าทาย กอปรกับงานประมูลในประเทศไทยเริ่มลดน้อยลง เมกะโปรเจ็กส์ ต่างๆในประเทศไทยเริ่มถึงสภาวะอิ่มตัว เศรษฐกิจชะงักงัน และเมื่อหันมามองทางด้านตะวันตกของประเทศไทยตามนโยบาย Look West Policy ของรัฐบาลไทยก็จะพบว่าเศรษฐกิจอินเดียกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นเป็นอย่างมาก มีความต้องการการก่อสร้างสาธารณูปโภคสูง ไม่ว่าจะเป็น ถนน การก่อสร้างรถไฟ ท่อน้ำประปา หรือแม้แต่สนามบินนานาชาติ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ จึงไม่รอช้าที่จะเข้ามาประมูลงานชิ้นแรกในปี พ.ศ. 2550  นั่นก็คือ เขื่อนโคล และในเวลาต่อมาได้เข้าซื้อบริษัทอินเดียและเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทไอทีดี ซีเมนเตชั่นจำกัด

เคล็ดลับการประมูลสนามบินเมืองกัลกัตตา

เมื่อรัฐบาลเบงกอลตะวันตกมีแนวคิดที่จะพัฒนาสนามบินเมืองกัลกัตตาให้มีความทันสมัย จึงได้ประกาศเชิญชวนให้บริษัทก่อสร้างที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาประมูล หนึ่งในนั้นก็คือบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ของคนไทย สถานกงสุลใหญ่ฯ เล็งเห็นคุณสมบัติสำคัญ 2 ประการที่ทำให้บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ชนะการประมูล คือ ผลงานสำคัญในการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ และการเข้าซื้อ บริษัทไอทีดี ซีเมนเตชั่นจำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศอินเดียเป็นฐาน ทำให้มีความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยได้รับสิทธิพิเศษในการยกเว้นภาษีบางประเภท โดยงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร ที่สนามบินกัลกัตตา โครงการรถไฟฟ้ากัลกัตตา สัญญา UG 2 เขื่อนโคล การก่อสร้างทางหลวงเส้นทาง NH-31 C รัฐเบงกอลตะวันตก และงานวางท่อส่งน้ำประปาในกัลกัตตา เป็นต้น ซึ่งในประเทศอินเดียยังมีการประมูลก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานอีกหลายโครงการ นับว่ายังเป็นตลาดที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย

กลุ่มงานก่อสร้างสนามบินของ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ

โครงการก่อสร้างสนามบินในอินเดียที่แล้วเสร็จในรอบปีที่ผ่านมา ได้แก่ งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารของสนามบินเอส.วี.พี.ไอ ที่เมือง Ahmehabad รัฐคุชราต มูลค่า 1,220 ล้านรูปีซึ่งบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ได้ร่วมมือกับบริษัท Pratibha บริษัทก่อสร้างในอินเดีย เข้าดำเนินการในโครงการดังกล่าว ส่วนโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ ได้แก่ งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารที่สนามบินกัลกัตตา มูลค่า 16,000 ล้านรูปีโครงการนี้ บริษัทอิตาเลียนไทยฯ ได้ร่วมมือกับ บริษัทไอทีดี ซีเมนเตชั่นจำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศอินเดียเข้าร่วมดำเนินการ

 

 

รายละเอียดโครงการอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานเมืองกัลกัตตา

รายละเอียด

อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ

อาคารผู้โดยสารภายในประเทศ

ความจุ

4 ล้าน

16 ล้าน

ขนาดพื้นที่

รวมสองอาคาร 233,000 ตารางเมตร

เที่ยวบินขาออก

เช็คอินเคานเตอร์

128

บู้ทตรวจคนเข้าเมือง

28

-

บู้ทรักษาความปลอดภัย

21

33

เที่ยวบินขาเข้า

บู้ทตรวจคนเข้าเมือง

40

-

สายพานรับกระเป๋า

ขาออก / ขาเข้า

3/6

5/10

ศุลกากร

14 ช่อง

-

สะพานเชื่อมกับเครื่องบิน

18

ลิฟท์ / บันไดเลื่อน / ทางเดินเร่งด่วน

13/8/6

14/8/7

ที่จอดรถ

1250 คัน (2 ชั้น)

       

 

มุลค่าโครงการอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่

ประมาณ 23,250 ล้านรูปี

เสร็จสิ้น

คาดว่าแล้วเสร็จ 31 มีนาคม 2556

 

 

จำนวนพนักงาน

                        สำหรับต้นทุนค่าใช้จ่ายในการจ้างคนงานทั้งไทยและอินเดียคงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความจำเป็นที่ต้องคำนึงถึง รวมทั้งคำนวณในการคิดต้นทุนกำไรด้วย บริษัท อิตาเลียนไทยฯ เล่าให้ศูนย์ข้อมูลธุรกิจฯ ฟังว่า ที่ผ่านมาในช่วงที่มีการก่อสร้างมากๆ ต้องมีการนำคนไทยทั้ง วิศวกร นายช่างและพนักงานเสมียน มาถึง 700 กว่าคน นอกจากนี้มีการจ้างงานคนอินเดียอีกเป็นจำนวนมากถึง 4,600 คน และต้องมีการปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานท้องถิ่นอย่างเคร่งครัดด้วยทั้งค่าจ้าง รวมทั้งกฎการรักษาความปลอดภัยต่างๆ เช่น บังคับพนักงานทุกคนสวมหมวกเมื่อเข้าถึงบริเวณก่อสร้างเพื่อรักษาความปลอดภัย

วัสดุก่อสร้าง

                        การก่อสร้างสนามบินเมืองกัลกัตตานอกจากต้องนำเข้าผู้เชี่ยวชาญจากประเทศไทยแล้ว วัสดุก่อสร้างต่างๆ ยังมีความสำคัญมากในการเติมเต็มให้สนามบินกัลกัตตามีชีวิตชีวา  นายชูเกษมฯ ผู้จัดการโครงการ (Civil Project Manager) กล่าวว่า นอกเหนือจากวัสดุก่อสร้างท้องถิ่น บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ได้สั่งซื้อฝ้าเพดานจากประเทศ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และหลังคามุงนำเข้าจากประเทศเกาหลีใต้ และ ประเทศอังกฤษ

 

 

                                                            ศูนย์ข้อมูลธุรกิจ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา

พฤศจิกายน 2555

 

 

อ้างอิง

1.      นายชูเกษม ลัดดาหอม ผู้จัดการโครงการ (Civil Project Manager) บริษัท อิตาเลียนไทยฯ โครงการสนามบินเมืองกัลกัตตา

2.      ITD Annual Report 2011

3.      เว็บไซต์ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ (www.itd.co.th)

4.      เว็บไซต์ บริษัท ITD Cementation LTD. (www.itdcem.co.in)

5.      เว็ยไซต์ www.thaiindia.net

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ