วันที่นำเข้าข้อมูล 20 มิ.ย. 2555
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
คณะผู้แทนไทยเดินทางเยือนเมืองกัลกัตตา
เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2554 นายประสิทธิเดช วิชิตสรสาตร กงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา ได้เข้าร่วมการสัมมนาซึ่งจัดโดยหอการค้าภารตะ (Bharat Chamber of Commerce) ในฐานะแขกเกียรติยศ ในโอกาสที่คณะผู้แทนไทยข้างต้นนำโดยนายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังเดินทางเยือนเมืองกัลกัตตาและหอการค้าภารตะได้จัดการประชุมและหารือเพื่อจับคู่ธุรกิจ โดยนายสุขุม สมประสงค์ รองกงสุลใหญ่ฯ (ท้องถิ่น) เข้าร่วมด้วย สรุปได้ ดังนี้
1. ประธานหอการค้าภารตะกล่าวถึงความสำคัญของไทยในฐานะคู่ค้ากับอินเดีย ความร่วมมือทางการค้าที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากมีการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดีย และอาเซียน-อินเดีย และประธานหอการค้าฯ ได้แสดงความยินดีที่มีคณะผู้แทนระดับจังหวัดจากประเทศไทยมาเยือน ร่วมกับภาคเอกชนของไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ให้มีปฏิสัมพันธ์ระดับท้องถิ่นระหว่างไทย-อินเดียได้เป็นอย่างดี
2. กงสุลใหญ่ฯ กล่าวถึงความสัมพันธ์แน่นแฟ้นระหว่างไทย-อินเดียโดยเฉพาะการเยือนอินเดียของ ฯพณฯ นรม. เมื่อเดือน เม.ย. 54 และกล่าวถึงภารกิจของ สกญ.ฯ ที่ดูแลรัฐและดินแดนในเขตกงสุล 6 แห่ง มีคนไทยอาศัยอยู่รวมประมาณกว่าพันคน มีบริษัทของไทยได้แก่ บ. อิตาเลียนไทยเข้ามารับงานก่อสร้างหลายโครงการในอินเดีย โดยเฉพาะในรัฐเบงกอลตะวันตก อาทิ โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานเมืองกัลกัตตา โครงการวางท่อประปา และโครงการสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน เป็นต้น รวมทั้ง กำลังอยู่ระหว่างเริ่มโครงการถนนรอบเมืองกัลกัตตา ซึ่งเป็นโครงการระดับเมกะโปรเจ็ค ใช้เงินลงทุนมากกว่า 8 หมื่นล้านรูปี กสญ.ฯ ได้กล่าวถึงศักยภาพในความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและธุรกิจระหว่างไทย-อินเดียในหลายด้าน อาทิ การที่ฝ่ายอินเดียอาจพิจารณาร่วมมือกับฝ่ายไทยในการสร้างที่พัก โรงแรม ศูนย์การค้า ในระหว่างทางหลวงต่างๆ เพื่อความสะดวกสบายของผู้ใช้รถใช้ถนน เป็นต้น และสุดท้ายได้กล่าวถึงความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างคณะของไทยกับผู้เข้าร่วมสัมมนาและการจับคู่ธุรกิจจะดำเนินไปอย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จด้วยดี
3. นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังได้กล่าวแนะนำคณะและแนะนำจังหวัดตรังที่มีความน่าสนใจในหลายด้าน อาทิ สถานที่ท่องเที่ยว พิธีมงคลสมรสใต้น้ำ และการเป็นจังหวัดที่ปลูายางพาราแห่งแรกในไทยเมื่อกว่า 150 ปีมาแล้ว เป็นต้น และกล่าวถึงศักยภาพความร่วมมือทางธุรกิจและเศรษฐกิจระหว่างจังหวัดตรังกับอินเดียโดยเฉพาะรัฐเบงกอลตะวันตก
4. ในระหว่างการสัมมนา ผู้เข้าร่วมการสัมมนาให้ความสนใจถามปัญหาต่างๆ แก่ฝ่ายไทย อาทิ ความเป็นไปได้ในการที่คนอินเดียจะไปลงทุนทำสวนยางในไทย หรือประกอบอุตสาหกรรมยางในไทย และการร่วมลงทุนในสาขาต่างๆ เป็นต้น
5. ภายหลังการสัมมนามีการประชุมจับคู่ธุรกิจระหว่างฝ่ายไทย-อินเดีย โดยแบ่งเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพาราซึ่งฝ่ายไทยประกอบด้วยผู้แทนบริษัทเฟอร์นิเจอร์ของไทยในจังหวัดตรัง และกลุ่มยางพารา ซึ่งฝ่ายไทยประกอบด้วยสหกรณ์ผู้ทำสวนยางพาราจากตรังผลิตภัณฑ์ มีนักธุรกิจอินเดียให้ความสนใจอย่างมากทั้งสองกลุ่ม มีการสอบถามข้อมูลสินค้า การติดต่อ และการเจรจาธุรกิจระหว่างกัน รวมทั้งผู้ประกอบการฝ่ายไทยบางรายได้รับคำสั่งซื้อสินค้าด้วย
รูปภาพประกอบ